ขนาดอักษร
เปลี่ยนการแสดงผล C C C
TH EN

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

Ministry of Natural Resources and Environment

survey

ทส. แถลงแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล

ทส. แถลงแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล

ทส. แถลงแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล       

       วันที่ 23 มกราคม 2562 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุม 301 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงข่าวแผนปฏิบัติการ เรื่อง PM 2.5 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล รวมถึงการดำเนินงานตาม NDCs Road Map ของประเทศไทย การดำเนินงานตาม Road Map การลดการใช้ถุงพลาสติกของประเทศไทย ตลอดจนการเตรียมการรับสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ และการเพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียว
          พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้กรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5  
ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยมีแนวทางการแก้ไขปัญหาใน 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย
          - ขั้นที่ 1 ขั้นเตรียมการ โดยได้มีประชุมหารือและสร้างความรับรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน
          - ขั้นที่ 2 ขั้นปฏิบัติการ โดยมีแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 แบ่งเป็น 4 ระดับ และจะยกระดับความเข้มข้นของมาตรการตามความรุนแรงของสถานการณ์ PM2.5  ดังนี้
                        ระดับที่ 1) ฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในช่วง 51 - 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เพิ่มความเข้มข้นของการดำเนินมาตรการต่างๆ ประกอบด้วย ตรวจจับควันดำ 20 จุด รอบ กทม. จัดจุดตรวจวัดควันดำเคลื่อนที่เร็ว 5 ชุด จัดชุดตรวจการ 16 ชุด ตรวจรถ ขสมก. เร่งคืนพื้นผิวจราจรในพื้นที่การก่อสร้างรถไฟฟ้าได้ เพิ่มการเปิดหน่วยปฏิบัติการ ฉีดพ่นน้ำแรงดันสูง 8 คัน กรุงเทพมหานคร เพิ่มความถี่กวาดล้างทำความสะอาดถนน ควบคุมการก่อสร้าง และงดการเผาในที่โล่งและตรวจจับควันดำ ในพื้นที่ 5 จังหวัดปริมณฑล นอกจากนี้ ได้ประสานงานไปยังกระทรวงพลังงาน เพื่อเสนอให้พิจารณากำหนดราคาน้ำมันไบโอ B20 ให้น้อยกว่าน้ำมันดีเซล ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำมันไบโอ B20 ในกลุ่มรถยนต์ขนาดใหญ่ เช่น รถโดยสาร รถบรรทุก เป็นต้น
                       ระดับที่ 2) หากปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกิน 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)  ครอบคลุมพื้นที่ ติดต่อกัน 3 วัน ให้ยกระดับมาตรการเป็นระดับ 2 ซึ่งจะเพิ่มความเข้มงวดขึ้นจากระดับที่ 1 เช่น ลดจำนวนยานพาหนะ ชะลอ/หยุดการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้า การปรับเปลี่ยนและแก้ไขแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทอุตสาหกรรม ให้มีมาตรฐานที่ดีขึ้นกว่าที่ดำเนินการอยู่ ณ ปัจจุบัน เป็นต้น
                       ระดับที่ 3) หากดำเนินการตามระดับ 2 แล้ว ยังมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกิน 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ต่อเนื่องติดต่อกันอีก 3 วัน ให้ยกระดับมาตรการเป็นระดับ 3 โดยใช้อำนาจของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และพื้นที่ปริมณฑล  ตามมาตรา 28/1 วรรค 2  แห่ง พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ประกาศกําหนดให้กรุงเทพมหานครและพื้นที่ปริมณฑล เป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ และมีอำนาจยุติกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษได้ทันที ทั้งนี้ ใช้อำนาจได้เฉพาะพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นเกินเท่านั้น
                       ระดับที่ 4) หากมาตรการระดับที่ 1, 2 และ 3 แล้ว ยังมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เกิน 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)  ต่อเนื่องติดต่อกันอีก 3 วัน ให้ยกระดับมาตรการเป็นระดับ 4 โดยให้เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณามาตรการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากฝุ่นละออง PM2.5 เสนอให้ นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจพิเศษ ตามนัยมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 สั่งการให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ กระทำหรือร่วมกันกระทำการใดๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการระงับหรือบรรเทาผลร้ายจากอันตรายและความเสียหายที่เกิดจากการแพร่กระจายของฝุ่นละออง PM2.5 ต่อไป
           - ขั้นที่ 3 ขั้นฟื้นฟูหลังจากสิ้นสุดเหตุการณ์

ภาพและเผยแพร่: อาทิตยา, ข่าว: จันทร์เพ็ญ

แกลเลอรี่