ขนาดอักษร
เปลี่ยนการแสดงผล C C C
TH EN

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

Ministry of Natural Resources and Environment

survey

เวทีเสวนาการจัดการกากอุตสาหกรรม เสนอปรับปรุงการทำงานให้ประชาชนมีความมั่นใจ

เวทีเสวนาการจัดการกากอุตสาหกรรม เสนอปรับปรุงการทำงานให้ประชาชนมีความมั่นใจ

เวทีเสวนาการจัดการกากอุตสาหกรรม เสนอปรับปรุงการทำงานให้ประชาชนมีความมั่นใจ


นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า คพ. ได้จัดเสวนา เรื่อง บริหารจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างไร ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 เพื่อระดมความคิดเห็นหาแนวทางและกลไกในการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทางแอปพลิเคชัน ZOOM โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. เป็นประธานเปิดการเสวนาฯ ซึ่งมีคณะวิทยากรได้แก่ ผศ. ดร.บุญส่ง ไข่เกษ สมาชิกวุฒิสภา นายพฤกษ์ ศิโรรัตนเศรษฐ์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม นายธีระพล ติรวศิน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายครรชิต เข็มเฉลิม เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน จังหวัดฉะเชิงเทรา และนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ โดยมีภาคส่วนต่างๆผู้เข้าร่วมเสวนาฯประมาณ 500 คน 

 นายอรรถพล กล่าวว่า การเสวนาฯ ได้มีการบรรยายพร้อมการอภิปรายในประเด็นต่างๆ และผู้เข้าร่วมการเสวนาฯ ได้เสนอแนะแนวทางการพัฒนาและปรับปรุงการจัดการกากอุตสาหกรรม อาทิ

1. ควรมีข้อมูลปริมาณกากอุตสาหกรรมที่มีความชัดเจนและถูกต้องและสามารถตรวจสอบได้ เพื่อให้มีระบบการกำกับตรวจสอบโรงงานที่เข้มงวด และควรมีการใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมในการบ่งชี้ผู้ก่อกำเนิด และควรมีการเพิ่มศักยภาพเจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นรวมถึงเครือข่ายในการติดตามตรวจสอบการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม

2. ควรปรับปรุงกฎระเบียบที่ควบคุมกากอุตสาหกรรมและการพัฒนาระบบการกำกับดูแลทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะช่วยให้สามารถกำกับ ติดตาม ตั้งแต่ผู้กำเนิดกากอุตสาหกรรม ผู้ขนส่ง และผู้บำบัด/กำจัดกากอุตสาหกรรม (ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ)

3. ควรมีระบบการตรวจสอบเป็นลักษณะ Real time และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากผู้ขนส่งกากของเสียอุตสาหกรรมจนถึงผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม

4. ควรมีระบบการเปิดเผยข้อมูลการปลดปล่อยของเสียที่ต้นทาง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาพิจารณ์อย่างทั่วถึงและครอบคลุม เพื่อแก้ไขปัญหาภาระของประชาชนและหน่วยงานภาครัฐในการสืบหาแหล่งที่มาของการปนเปื้อน โดยการสนับสนุนให้มีกฎหมาย PRTR เพื่อทำให้ประเทศมีระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ทุกภาคส่วนเข้าถึงข้อมูลได้

5. การใช้ข้อมูลในระบบศูนย์ข้อมูลสารเคมีและวัตถุอันตรายแห่งชาติ โดยให้เพิ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลในระบบได้ และหน่วยงานภาครัฐต้องร่วมมือกันในการติดตาม/สอดส่อง/เฝ้าระวัง/แก้ปัญหา และ

6. ควรมีความชัดเจนของนโยบายและมาตรการในการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อจะได้วางแผนแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบและมีระยะเวลาที่ชุดเจน เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจในภาครัฐที่จะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม 

นอกจากนี้ ปลัด ทส. ยังได้ให้แนวทางการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ภาครัฐต้องมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน และผลักดันหรือปรับแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้กับสาธารณะ การสนับสนุนด้านการเงินและการลงทุน ต้องมุ่งที่สถานประกอบการที่มีธรรมาภิบาล มีการประกอบการอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาเทคโนโลยีการกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ทันสมัยและถูกต้อง สร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม ซึ่ง คพ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะต้องนำข้อเสนอแนะจากการเสวนาไปปรับปรุงการทำงานต่อไป นายอรรถพล กล่าว

แกลเลอรี่